7 ลำดับพิธีแต่งงานแบบไทย รายละเอียดครบ ทุกขั้นตอน

7 ลำดับพิธีแต่งงานแบบไทย รายละเอียดครบ ทุกขั้นตอน

Update: Jan 22, 2021

ในปัจจุบัน ลำดับพิธีแต่งงานแบบไทย มีการปรับเปลี่ยนให้มีความเรียบง่าย กระชับขึ้น และเสร็จภายในวันเดียวได้ เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต สังคม เศรษฐกิจในปัจจุบันค่ะ แต่ใช่ว่าจะมีการเปลี่ยนเป็นแบบใหม่ทั้งหมด ยังคงรักษาพิธีการแต่งงานตามธรรมเนียมไทยที่สืบต่อกันมา ซึ่งโดยส่วนใหญ่ พิธีการแต่งงานแบบไทยจะนิยมจัดพิธีหมั้นในช่วงเช้า หรือถือเรียกกันว่า  “พิธีแต่งงานเช้า” และจัดงานเลี้ยงวิวาห์ ในช่วงบ่าย (เที่ยง) หรือช่วงเย็น และเรียกกันว่า “พิธีงานแต่งเย็น” ค่ะ

ในวันนี้ VenueE จึงได้เรียง ลำดับพิธีแต่งงานแบบไทย ในช่วงเช้า เพียง 7 ขั้นตอน มาฝากว่าที่คู่บ่าวสาวทุกท่าน ว่ามีขั้นตอนอะไรบ้าง และในแต่ละขั้นตอนต้องเตรียมของอะไรบ้าง ในวันงานมงคลจะได้ไม่ลืมค่ะ

1. พิธีแห่ขันหมาก

เมื่อถึงเวลาฤกษ์มงคล ฝ่ายทางเจ้าบ่าว เตรียมจัดขบวนขันหมาก เพื่อเคลื่อนขบวนสู่ขอเจ้าสาว

ขั้นตอนการประกอบพิธีแห่ขันหมาก

  • ตั้งขบวนขันหมาก เรียงลำดับ ดังนี้ พานขันหมากเอก (นิยมให้ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายชายเป็นผู้ถือ) พานสินสอดทองหมั้น (นิยมให้พ่อและแม่เจ้าบ่าวเป็นผู้ถือ) พานแหวนหมั้น (นิยมให้ญาติผู้พี่หรือน้องเจ้าบ่าวเป็นผู้ถือ) พานธูปเทียนแพ (นิยมให้เจ้าบ่าวเป็นผู้ถือ) พานต้นกล้วย ต้นอ้อย (นิยมให้เพื่อนเจ้าบ่าวเป็นผู้ถือ) และพานขันหมากโท เช่น พานไก่ต้ม พานหมูต้ม พานวุ้นเส้น พานขนมจันอับ พานขนมมงคล เป็นต้น
  • เมื่อขบวนขันหมากเคลื่อนเข้ามาสู่เขตบริเวณบ้านเจ้าสาว จะเจอกับการกั้นประตูขวางขบวนขันหมากไม่ให้เข้าไปในเรือนเจ้าสาว โดยส่วนใหญ่การกั้นประตูมักจะทำกัน 3 ครั้ง ครั้งแรกใช้ผ้ากางกั้นไว้เรียกว่า “ประตูชัย”  ประตูที่สองใช้ผืนแพรเรียกว่า “ประตูเงิน” สุดท้ายกั้นด้วยสายสร้อยทองเรียกว่า “ประตูทอง” ในปัจจุบันเพื่อความสะดวก นิยมใช้เป็นเข็มขัดนาค เงิน ทอง สายสร้อยทอง ลูกปัด มุก พวงมาลัยดอกไม้ เป็นต้น
  • ในแต่ละประตู เถ้าแก่ของเจ้าบ่าวจะต้องเจรจาเพื่อมอบของขวัญ (ส่วนมากนิยมใช้ซองใส่เงิน) ก่อนจะผ่านประตูไปได้ ซึ่งมูลค่าของขวัญมักจะต้องสูงขึ้นตามลำดับด้วย เมื่อขบวนขันหมากผ่านเข้ามาจนถึงตัวบ้านแล้ว ฝ่ายเจ้าสาวจะต้องส่งเด็กผู้หญิงหรือหญิงสาวที่ยังไม่ได้แต่งงานถือพานเชิญขันหมาก ออกมาต้อนรับเถ้าแก่ฝ่ายเจ้าบ่าวเพื่อเป็นการรับขันหมาก และเชิญให้เข้าไปข้างใน
ขอบคุณภาพจาก Bigontheway Photography

การจัดเตรียมขันหมาก

  • พานขันหมาก ประกอบด้วย หมาก 8 ผล, พลูเรียง 4 แถว แถวละ 8 ใบ, ถุงเงิน 2 ใบ, ถุงทอง 2 ใบ ข้างในบรรจุด้วย ถั่วเขียว งาดำ ข้าวเปลือก ข้าวตอก และซองเงิน 1 ซอง
  • พานสิดสอดทองหมั้น ต้องมี ขันใส่เงิน ทอง เพชร นาค ของหมั้นตามที่ตกลงกันไว้ รวมทั้งต้องมีถุงเล็กถุงน้อยใส่ถั่ว งา ข้าวเปลือก ข้าวตอก
  • พานแหวนหมั้น ต้องเป็นพานที่มีการออกแบบให้รองแหวนได้
  • พานธูปเทียนแพ ประกอบไปด้วย ธูป เทียนแพ และกระทงดอกไม้
  • พานต้นกล้วย ต้นอ้อย อย่างละ 1 คู่
  • พานขันหมากโท เช่น พานไก่ต้ม พานหมูต้ม พานวุ้นเส้น พานขนมจันอับ พานขนมมงคล เป็นต้น
  • พานเชิญขันหมาก เป็นพานเดียวที่จัดเตรียมโดยฝ่ายหญิง โดยในพาน จะบรรจุหมาก พลูจีบ และยาเส้นที่นับไว้เป็นเลขคู่

2. พิธีสงฆ์

ตามธรรมเนียมของคนไทย เมื่อทำพิธีหรืองานมงคลใดๆ เพื่อความเป็นสิริมงคลของชีวิตคู่ คู่บ่าวจะต้องตักบาตรทำบุญร่วมกัน และนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ค่ะ สำหรับการนิมนต์พระมาสวด นิยมเป็น 9 รูป เพราะเชื่อกันว่า เลข 9 เป็นเลขมงคล แสดงถึงความเจริญก้าวหน้าค่ะ 

ขอบคุณภาพจาก Bigontheway Photography

ขั้นตอนการประกอบพิธีกรรมทางสงฆ์

  • เมื่อพระสงฆ์มาถึงและนั่งที่อาสนะเรียบร้อยแล้ว คู่บ่าวสาวจะจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย (เจ้าบ่าวนั่งทางฝั่งขวามือของเจ้าสาว) อาราธนาศีล และรับศีล 5 รวมไปจนถึงการถวายขันและเทียนเพื่อให้พระสงฆ์ทำน้ำพระพุทธมนต์
  • จากนั้นพระสงฆ์จะเจริญพระพุทธมนต์ เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ไปจนถึงบทมงคลสูตร เจ้าพิธีจะจุดเทียนชนวนเพื่อเป็นการขอให้พระสงฆ์ทำน้ำพระพุทธมนต์สำหรับใช้ในพิธีรดน้ำสังข์
  • ลำดับถัดไป จะเป็นการทำบุญร่วมชาติ ตักบาตรร่วมขัน ชาติหน้าจะได้เกิดมาคู่กันอีก โดยให้คู่บ่าวสาวให้ใช้ทัพพีเดียวกัน ตักบาตรพร้อมกันค่ะ โดยในการตักบาตรนี้ มีความเชื่อว่า ถ้าใครจับที่คอทัพพี คนนั้นจะได้เป็นใหญ่เหนือคู่ของตน หรือได้เป็นผู้นำครอบครัว แต่เพื่อความเสมอภาค ไม่ให้ใครใหญ่เหนือกว่าใคร คู่บ่าวสาวอาจแก้เคล็ดโดยการการผลัดกันจับที่คอทัพพีได้ค่ะ
  • เมื่อตักบาตรเสร็จแล้ว จะเป็นการถวายภัตตาหารเช้า / เพล โดยเริ่มจากถวายอาหารแด่พระพุทธ แล้วจึงประเคนอาหารคาวหวานถวายแด่พระสงฆ์ 
  • พระสงฆ์อนุโมทนา และขึ้นบทสวด “ยะถา.. สัพพี..” ในระหว่างนี้ คู่บ่าวสาวจะกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับเทพยดา เจ้ากรรมนายเวร บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ
  •  จากนั้นจะถึงพิธีในขั้นตอนสุดท้าย พระสงฆ์จะเจริญชัยมงคลคาถา พร้อมประพรมน้ำมนต์และเจิมหน้าผากให้แก่คู่บ่าวสาวเป็นอันเสร็จพิธี

เครื่องใช้ที่ต้องจัดเตรียมสำหรับพิธีสงฆ์

  • ชุดโต๊ะหมู่บูชา
  • แจกันดอกไม้ 2 ชุด
  • ธูป 3 ดอก 
  • เทียนสีเหลือง 2 เล่ม
  • เทียนต่อ 1 เล่ม
  • เชิงเทียนและกระถางธูป
  • อาสนะ 9 ที่
  • ที่กรวดน้ำ กระโถน แก้วน้ำ ทิชชู่
  • ขันน้ำมนต์และที่สำหรับประพรมน้ำมนต์
  • แป้งเจิม
  • ชุดเครื่องเซ่นสำหรับพระพุทธและพระภูมิเจ้าที่ 
  • อาหารสำหรับตักบาตร ขันข้าว ทัพพี
  • ดอกไม้ธูปเทียน ถวายพระ 9 ชุด
  • พานใส่ของถวายพระ
  • ด้ายสายสิญจน์สำหรับทำพิธี และสายสิญจน์ที่ทำเป็นมงคลคู่ หรือมงคลแฝด

3. พิธีสู่ขอและตรวจนับสินสอด

หลังจากที่พิธีแห่ขบวนขันหมากเสร็จสิ้น จะนำพานขันหมากเอก พานธูปเทียนแพ พานสินสอดทองหมั้น และพานแหวนหมั้น มาเรียงไว้บนโต๊ะด้านหน้าของพิธี จากนั้นพิธีกรจะเรียนเชิญผู้ใหญ่และเถ้าแก่ของทั้งสองเชิญนั่งเก้าอี้บนเวที โดยการนั่งนั้นจะให้ฝ่ายหญิงอยู่ทางซ้าย ส่วนฝ่ายชายนั่งอยู่ทางขวา โดยให้คุณพ่อของทั้งสองฝ่ายนั้งอยู่ด้านนอกสุด

ขอบคุณภาพจาก Bigontheway Photography

ขั้นตอนการสู่ขอ

  • ให้เถ้าแก่ หรือคุณพ่อคุณแม่ฝ่ายชายกล่าวแนะนำตนเอง และกล่าวสู่ขอเจ้าสาวให้กับเจ้าบ่าว โดยได้นำสินสอดทองหมั้นมาสู่ขอตรงตามจำนวนที่ตกลงกันไว้ และเชิญคุณแม่เจ้าสาวตรวจนับสินสอด ทางด้านเถ้าแก่ฝ่ายหญิงและคุณแม่เจ้าสาวก็จะพิจารณาดูสินสอดทองหมั้นพอเป็นพิธี
  • เสร็จแล้วคุณแม่เจ้าสาวจะอนุญาตให้เจ้าบ่าวไปรับเจ้าสาวมายังพิธีการ 
  • จากนั้นเจ้าสาวเดินเข่าขึ้นเวที โดยให้ขึ้นเวทีทางด้านพ่อแม่เจ้าบ่าว แล้วกราบพ่อแม่เจ้าบ่าว 3 ครั้ง แล้วคลานเข่าไปยังพ่อแม่เจ้าสาว กราบพ่อแม่เจ้าสาวแล้วหันหน้าออกมาด้านหน้าเวที
  • เรียนเชิญแม่เจ้าสาวมาตรวจนับสินสอดอีกครั้ง โดยนิยมให้เพื่อนเจ้าสาวมาช่วยแก้ผ้าห่อสินสอด และรวบรวมใส่พานให้แม่เจ้าสาว โดยนำใบพลู ใบหมาก ใบเงิน ใบทอง ใบรัก มาจัดเรียงในพาน วางอยู่บนผ้าแดงหรือผ้าเงินผ้าทอง และนำสินสอด เงิน ทองมาวางจัดเรียงรวมกันในพานให้สวยงาม
  • จากนั้นจะให้แม่เจ้าสาวนำถั่วงา ข้าวตอก ดอกไม้จากพานสินสอดมาโรยในพานวางสินสอด พร้อมให้พร ปัจจุบันนิยมให้ญาติผู้ใหญ่บนเวที ช่วยกันโปรยที่ละท่านเพื่อเป็นสิริมงคลด้วย
  • หลังจากนั้นก็จะให้แม่เจ้าสาว ทำการมัดสินสอดทองหมั้นทั้งหมด แล้วแบกขึ้นบ่า พร้อมกับทำท่าว่ามันหนักมาก เดินบนเวที ก่อนที่จะส่งให้เพื่อนเจ้าสาวไปเก็บ เป็นอันจบพิธีสู่ขอ

4. พิธีหมั้น

ขอบคุณภาพจาก Bigontheway Photography

ขั้นตอนพิธีหมั้น

  • เจ้าสาวกราบเจ้าบ่าวหนึ่งครั้ง ที่ตักหรือระดับอก โดยเจ้าบ่าวจะต้องยกมือพนมรับไหว้เจ้าสาวด้วย 
  • จากนั้นเจ้าบ่าวจะสวมแหวนให้เจ้าสาวที่นิ้วนางข้างซ้าย 
  • เจ้าสาวกราบเจ้าบ่าวอีกครั้ง เพื่อเป็นการขอบคุณ
  • หลังจากนั้นเจ้าสาวจะสวมแหวนให้เจ้าบ่าวที่นิ้วนางข้างซ้ายเช่นกันค่ะ

5. พิธีรับไหว้หรือผูกข้อมือ

สำหรับพิธีรับไหว้นั้น เป็นพิธีที่แสดงออกถึงการมีสัมมาคารวะ ความนอบน้อมต่อ พ่อ แม่ และญาติผู้ใหญ่ เป็นการฝากเนื้อฝากตัวของคู่บ่าวสาว ซึ่งคำว่า “รับไหว้” หมายถึง “ไหว้ตอบ” คือรับความเคารพจากคู่บ่าวสาวด้วยการให้ของตอบแทนหรือให้ศีลให้พร

ขอบคุณภาพจาก Bigontheway Photography

ขั้นตอนพิธีรับไหว้

  • คู่บ่าวสาวจะยกพานธูปเทียนแพคลานเข้าไปกราบคุณพ่อ คุณแม่ ซึ่งผู้ใหญ่จะรับไหว้คู่บ่าวสาวพร้อมทั้งกล่าวให้ศีลให้พร แล้วจึงหยิบด้ายมงคลหรือสายสิญจน์มาผูกข้อมือให้คู่บ่าวสาวเป็นการรับขวัญ 
  • จากนั้นคู่บ่าวสาวจะยกพานธูปเทียนแพให้ผู้ใหญ่ 
  • หลังจากผู้ใหญ่รับพานแล้ว ก็จะวางเงินในพานให้คู่บ่าวสาวเพื่อเป็นเงินทุน  
  • ทั้งนี้ ญาติผู้ใหญ่จะผลัดเปลี่ยนกันไปทำพิธีรับไหว้อย่างต่อเนื่อง โดยจะไล่เรียงไปตามลำดับความอาวุโส เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า นา อา เป็นต้น ส่วนใหญ่ พ่อแม่ของฝ่ายหญิงจะให้เกียรติทางฝ่ายชายทำพิธีรับไหว้ก่อน

6. พิธีรดน้ำสังข์ หรือ พิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์และประสาทพร

ขอบคุณภาพจาก Bigontheway Photography

ขั้นตอนพิธีรดน้ำสังข์

  • คู่บ่าวสาวนั่งที่ตั่งรดน้ำสังข์ เจ้าบ่าวจะนั่งด้านขวามือของเจ้าสาว ซึ่งจะมีหมอนสำหรับรองมือ และพานรองรับน้ำสังข์ 
  • ประธานในพิธี จะทำการคล้องพวงมาลัย และสวมมงคลแฝดที่ได้ผ่านพิธีมงคลมาเรียบร้อยลงบนศีรษะของบ่าวสาว แล้วจึงจะหลั่งน้ำอวยพรให้บ่าวสาว ตามด้วยพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ ผู้ร่วมงานที่เป็นผู้ใหญ่ หรือแขกอื่นๆ เข้ารดน้ำตามลำดับความอาวุโส
  • หลังจากเสร็จพิธีรดน้ำสังข์ จึงทำการปลดสายมงคลออกจากศีรษะของคู่บ่าวสาว จากนั้นรวบมือคู่บ่าวสาวให้ลุกขึ้นพร้อมกัน เป็นอันเสร็จพิธี 

7. พิธีปูที่นอนและพิธีส่งตัวเข้าหอ (พิธีร่วมเรียงเคียงหมอน)

ขั้นตอนพิธีปูที่นอน

  • พ่อแม่ฝ่ายเจ้าสาวจะเชิญคู่สามี-ภรรยาที่เคารพนับถือ มีชีวิตครอบครัวที่ราบรื่น อบอุ่นสมบูรณ์ อยู่กินกันมาจนแก่เฒ่า และมีลูกหลานสืบสกุล มาทำหน้าที่ปูที่นอนในเรือนหอให้กับคู่บ่าวสาวเพื่อความเป็นสิริมงคล
  • โดยผู้ใหญ่ที่ทำพิธีปูที่นอนนี้จะเป็นผู้จัดเรียงหมอน 2 ใบ แล้วปัดที่นอนพอเป็นพิธี จากนั้นจัดวางข้าวของประกอบพิธีลงบนที่นอน อันได้แก่ หินบดยา (หมายถึงความหนักแน่น) ไม้เท้า (หมายถึงอายุยืนยาว) ฟักเขียว (หมายถึงความอยู่เย็นเป็นสุข) แมวคราว (หมายถึงการอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน) พานใส่ถุงข้าวเปลือก งา ถั่วทองหรือถั่วเขียว (หมายถึงความเจริญงอกงาม) ขันใส่น้ำฝน (หมายถึงความเย็น สดชื่น ชุ่มฉ่ำ และสามัคคีรักไคร่กลมเกลียว) ไก่ขาว (หมายถึงขยันหมั่นเพียร) ขันน้ำมนต์ พร้อมที่พรมน้ำมนต์ ขันบรรจุข้าวตอกดอกไม้ ดอกรัก มะลิ กุหลาบ หรือบางแห่งอาจเพิ่มถุงใส่เงินทองด้วย
  • ในระหว่างจัดวางของ ผู้ใหญ่ทั้งสองจะให้ศีลให้พร เพื่อเป็นสิริมงคล และโปรยข้าวตอกดอกไม้ลงบนที่นอน
  • จากนั้นจึงให้ผู้ใหญ่ทั้งคู่นอนลงบนเตียงนั้น ฝ่ายหญิงจะนอนทางซ้าย ฝ่ายชายนอนลงทางขวา และกล่าวถ้อยคำอวยพรที่เป็นมงคลต่อชีวิตคู่ แล้วจึงลุกจากเตียงเป็นอันเสร็จพิธี

ขั้นตอนพิธีส่งตัวคู่บ่าวสาวเข้าหอ

ขอบคุณภาพจาก Bigontheway Photography
  • ก่อนที่เจ้าสาวจะเข้าห้องหอ เจ้าสาวต้องกราบลาพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ฝ่ายของตัวเอง เพื่อเป็นการขอพร 
  • เมื่อได้ฤกษ์แล้ว แม่เจ้าสาวจะเป็นคนพาเจ้าสาวมามอบให้กับเจ้าบ่าว พร้อมพูดจาฝากฝังให้ช่วยดูแล 
  • จากนั้นญาติผู้ใหญ่ รวมทั้งผู้ใหญ่ที่ทำพิธีปูที่นอน จะกล่าวให้โอวาทเกี่ยวกับการใช้ชีวิตคู่ เพื่อความเป็นสิริมงคล และอาจอบรมให้รู้จักหน้าที่ของสามี-ภรรยาที่ดี ที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน 
  • ปิดท้ายพิธีด้วยการให้คู่บ่าว-สาวนอนลงบนที่นอน

จบกันไปแล้วกับ 7 ลำดับพิธีแต่งงานแบบไทย ในช่วงเช้า จะเห็นได้ว่าสามารถทำทุกพิธีได้ในวันเดียว ซึ่งแตกต่างจากอดีตที่มีพิธีรีตองมากกว่านี้เยอะค่ะ ไม่แน่นะคะ ในอนาคตอาจจะล่นระยะเวลา ล่นพิธีการบางอย่างที่สามารถจัดเสร็จได้ภายใน 2 ชั่วโมง ก็เป็นไปได้ เมื่อเรารู้ลำดับพิธีแต่งงานแบบไทยไปแล้วอีกหนึ่งอย่างที่คู่บ่าวสาวให้ความสำคัญก็คือชุดแต่งงานแบบไทยเพราะวันแต่งงานคู่บ่าวสาวต้องดูดีที่สุดในงานค่ะ

สามารถชมรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ VenueE  หรือ ติดตามบทความอื่นๆ ผ่านทาง VenueE blog อย่าลืมติดตามเพจเฟสบุ๊ค VenueE และ ไอจี กันนะคะ

Tags